แฟลชม็อบนิสิต นักศึกษา นักเรียน อุบัติขึ้นทั่วประเทศ นอกจากนัดชุมนุมใหญ่ 16 สิงหาคม 2563 ยังมีแฟลชม็อบตามหัวเมืองใหญ่ต่างจังหวัด ในรั้วสถาบันการศึกษาอีกหลายแห่งทั่วประเทศ
เป็นยุคที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนิสิต นักศึกษาใครใหญ่ที่สุด นับจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เกือบ 30 ปีก่อน
ปฐมบทแฟลชม็อบคนรุ่นใหม่ เกิดขึ้นหลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ก่อนจะพักรบไปเพราะโควิด-19 และการชุมนุมหวนกลับมาอีกครั้ง เรียกร้อง 3 ข้อหลัก 1.ปักธงแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2.รัฐบาลยุบสภา 3.หยุดคุกคามประชาชนทำให้ประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถูกจุดประกายขึ้นมาสู่การเมืองกระแสหลักเร็วกว่า “นักการเมืองในสภา” จะคิดไว้
ไม่ว่าฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล หรือกลุ่มการเมืองที่ยังไม่ประกาศตัวเป็นพรรคการเมือง ต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ 180 องศา นี่คือดอกผลของแฟลชม็อบกระนั้น บนเส้นทางการเมืองไทย การเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของนิสิต นักศึกษา สร้างแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองมาแล้วหลายครั้ง
ย้อนไปเมื่อ 63 ปีก่อนหน้านี้ สารตั้งต้นการชุมนุมของนิสิต นักศึกษาในหลายทศวรรษต่อมา เริ่มจากครั้งแรก หลังการเลือกตั้ง 26 กุมภาพันธ์ 2500 พลังพรรคเสรีมนังคศิลา พรรครัฐบาลที่มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าพรรค ชนะเลือกตั้งแต่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการเลือกตั้งสกปรก กลไกอำนาจรัฐ ทั้งตำรวจ ทหาร พลเรือน ทำให้พรรคฝ่ายรัฐบาลชนะ
เป็นเชื้อให้ นิสิต นักศึกษา ทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันอื่น ๆ ร่วมมือกับประชาชน เดินขบวนประท้วง1 สัปดาห์หลังการเลือกตั้ง จอมพล ป. ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อรักษาความสงบในพระนคร พร้อมตั้ง “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” ผู้บัญชาการทหารบกและ รมว.กลาโหม เป็นผู้รักษาความสงบเรียบร้อยตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและมีอํานาจบังคับบัญชาทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และตำรวจได้ทั่วราชอาณาจักร
แต่ขบวนนิสิต นักศึกษา และประชาชน รุกคืบเดินขบวนไปหา “จอมพล ป.” ทั้งที่กระทรวงมหาดไทย และทำเนียบรัฐบาล ซึ่งฝ่ายรัฐสั่งการให้ขีดเส้นว่าห้ามประชิดรั้วทำเนียบ แต่ “จอมพลสฤษดิ์” สั่งกำลังทหารให้เปิดทาง-อย่าทำร้ายประชาชน จนเกิดตำนาน “วีรบุรุษสะพานมัฆวานฯ” เหตุการณ์ในวันนั้นสร้างความนิยมให้กับจอมพลสฤษดิ์
แต่แล้วจอมพลสฤษดิ์ก็ยึดอำนาจจอมพล ป.ไม่ถึงเดือน ปิดตำนาน “จอมพล ป.” จากนั้นการเมืองเข้าสู่ยุคจอมพลสฤษดิ์-จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นยุค “สายลมแสงแดด” ที่นิสิต นักศึกษาทำกิจกรรมบันเทิงมากกว่ากิจกรรมทางการเมือง
กระทั่งปี 2511 จอมพลถนอมเปิดให้มีการเลือกตั้ง ขบวนการนักศึกษาจึงกลับมาทำกิจกรรมทางการเมืองอีกครั้ง เข้าสู่ยุค “ฉันจึงมาหาความหมาย” ต้องการความหมายจากมหาวิทยาลัยมากกว่าปริญญาบัตร และเริ่มเดินขบวนเพื่อประท้วงการขึ้นค่ารถโดยสารรถเมล์ ของรัฐบาลจอมพลถนอม และนิสิต นักศึกษาส่วนหนึ่งจัดตั้ง “กลุ่มนิสิต นักศึกษาอาสาสมัครสังเกตการณ์เลือกตั้ง” ขึ้น
ต่อมาในปี 2513 นักศึกษาสายกิจกรรมการเมืองก็เดินหน้าจัดตั้ง “ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย” (ศนท.) มีการเดินขบวนต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น รณรงค์ให้ใช้สินค้าไทย และเกิดกลุ่มกิจกรรมทางการเมืองขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัยหลายแห่ง
ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกิดกลุ่มสภาหน้าโดม ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำเนิด กลุ่มสภากาแฟ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกิด กลุ่มวลัญชทัศน์ ขบวนการกิจกรรมของนิสิต นักศึกษาขยายตัวอย่างมาก แม้ว่า “จอมพลถนอม” จะยึดอำนาจตัวเองในปี 2514 แต่ก็ไม่อาจจะทำให้ขบวนการนักศึกษาดับมอดลง
ตรงกันข้ามกลับนำมาซึ่งจุดเปลี่ยนทางการเมืองหลังจากเกิดกรณีเฮลิคอปเตอร์ทหารตก หลังการไปล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่นเรศวร นักศึกษารามคำแหง ออกหนังสือที่ชื่อว่า “มหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีคำตอบ” เสียดสีกรณีเหตุเกิดที่ทุ่งใหญ่ฯ และการต่ออายุราชการของจอมพลถนอม ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด และจอมพลประภาส จารุเสถียร ในฐานะผู้บัญชาการทหารบกอีกคนละ 1 ปี
นำมาสู่เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ดอกผลการชุมนุมของขบวนการนิสิต นักศึกษา ที่เรียกร้องให้ ม.รามคำแหงรับนักศึกษาทั้ง 9 คนกลับเข้าเรียน เรียกร้องให้อธิการบดีลาออก ขยายข้อเรียกร้องให้รัฐบาลคืนอำนาจการปกครองแก่ประชาชน ประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือน ส่งผลให้ยุคสฤษดิ์-ถนอม ที่ครองอำนาจถึง 16 ปีต้องพังพินาศ
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ได้เพียง3 ปี ขบวนการนิสิต นักศึกษาได้ลิ้มรสประชาธิปไตยเต็มใบช่วงสั้น ๆ และมีรัฐธรรมนูญ 2517 ที่ถือว่าเป็นประชาธิปไตยที่สุดฉบับหนึ่ง แต่ทว่าก็เกิดเหตุนองเลือด6 ตุลา 2519 ขบวนการนิสิต นักศึกษาแตกพ่าย เข้าป่าไปร่วมต่อสู้เชิงอุดมการณ์กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
หลายปีต่อมาในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็เปิดการเจรจา-ประนีประนอมกับกลุ่มนิสิต นักศึกษาที่เข้าป่า จับปืน ให้กลับมาร่วมพัฒนาชาติไทย ทำให้เกิดนักวิชาการ นักการเมือง คนเดือนตุลา ร่วมขับเคลื่อน พัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ มากมาย
ขบวนการนิสิต นักศึกษากลับมาอีกครั้งหลัง วลี “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ของ “พล.อ.สุจินดา คราประยูร” ผู้บัญชาการทหารบก ที่กล่าวต่อสาธารณะหลายครั้งว่า ตนและสมาชิกในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) จะไม่รับตำแหน่งทางการเมือง แต่กลับรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
หลังจาก “ณรงค์ วงศ์วรรณ” หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ซึ่งถูกเรียกว่าเป็นพรรคการเมืองที่สืบทอดอำนาจของ รสช.ชนะเลือกตั้ง 22 มีนาคม 2535 แต่ถูกแบล็กลิสต์จากสหรัฐ และชวดการเป็นนายกฯ คนที่มารับตำแหน่งแทนคือ พล.อ.สุจินดา จนนำไปสู่การประท้วงใหญ่ของประชาชน นักการเมือง พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเอกภาพ พรรคความหวังใหม่พรรคพลังธรรม และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ที่มี “ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” เป็นเลขาธิการ
ท้ายที่สุดจบด้วยการสลายการชุมนุมการเคลื่อนไหวครั้งนั้น นำมาสู่รัฐธรรมนูญ 2540 ที่มี “คีย์เวิร์ด” สำคัญคือ “นายกรัฐมนตรี ต้องมาจากการเลือกตั้ง” คือดอกผลการชุมนุมของขบวนการนิสิต นักศึกษา และประชาชน ตลอด 6 ทศวรรษที่ผ่านมา
August 16, 2020 at 04:40PM
https://ift.tt/2E3IAQO
ขบวนการนักศึกษา ล้มรัฐบาลทหาร 6 ทศวรรษ "วงจรแก้รัฐธรรมนูญ" - ประชาชาติธุรกิจ
https://ift.tt/3cQTmFE
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ขบวนการนักศึกษา ล้มรัฐบาลทหาร 6 ทศวรรษ "วงจรแก้รัฐธรรมนูญ" - ประชาชาติธุรกิจ"
Post a Comment