Search

ออกทะเลกับ ณัฐ ณภัทร ผู้ช่วยนักโบราณคดีใต้น้ำที่กู้ความงามจากซาก ... - The Cloud

ท่าเทียบเรือตำรวจน้ำสัตหีบ คือที่ที่เรายืนอยู่ตอนนี้

ส่วนจุดหมายปลายทางของเราวันนี้ อยู่ไกลห่างออกไป 13 กิโลเมตร กลางทะเลเวิ้งว้างที่มองไม่เห็นแม้แต่เงาของเกาะ

ณัฐ-ณภัทร ภิรมย์รักษ์ วิ่งมาต้อนรับเราอย่างขยันขันแข็ง ไม่ใช่ในฐานะตำรวจหรือช่างภาพมากฝีมือ แต่เป็นผู้ช่วยนักโบราณคดีที่รับบทช่างภาพ แบกกล้องหลายสิบกิโลลงไปใต้น้ำต่างหาก

ออกทะเลกับ ณัฐ ณภัทร ผู้ช่วยนักโบราณคดีใต้น้ำที่กู้ความงามจากซากประวัติศาสตร์ผ่านภาพ

หลายคนดำน้ำเพื่อพบเจอสิ่งสวยงามอย่างปะการัง แต่มีคนกลุ่มหนึ่งดำดิ่งลงไปกว่า 40 เมตร เพื่อค้นหาซากเรือจมและประวัติศาสตร์ของชาติที่ถูกแช่

เราก้าวขาปีนขึ้นเรืออย่างทุลักทุเล ฝากตัวเป็นนักข่าวภาคสนาม ตามติดกองโบราณคดีใต้น้ำ 16 ชีวิตที่เข้าสู่ฤดูสำรวจครั้งแรกในรอบปี นาน 20 วัน

เมื่อทรุดตัวลงนั่ง การประชุมงานประจำวันของพวกเขาจึงได้เริ่มต้นขึ้น

ออกทะเลกับ ณัฐ ณภัทร ผู้ช่วยนักโบราณคดีใต้น้ำที่กู้ความงามจากซากประวัติศาสตร์ผ่านภาพ

“ช่างภาพใต้น้ำจะถ่ายคนอื่นเป็นหลัก ไม่ค่อยมีรูปของตัวเองเท่าไหร่หรอก” ผู้ช่วยนักโบราณคดีเล่าพลางเปิดรูปเซลฟี่ขณะพักน้ำให้เราดู

พักน้ำ หมายถึง การหยุดพักในความลึกหนึ่งเพื่อให้ร่างกายได้คลายแก๊สไนโตรเจนออกมา ถือเป็นศัพท์แรกที่เราได้เรียนรู้

งานของณัฐต้องอาศัยความเชื่อใจเป็นอย่างมาก น้อยครั้งที่เขาจะลงไปสำรวจคนเดียว อย่างภาพที่เห็นมีนักดำน้ำจำนวน 5 คน คำถามต่อมาคือพวกเขาสื่อสารกันยังไงใต้น้ำ ณัฐอธิบายด้วยการทำท่าภาษามือประกอบการนับเลข 0 – 9 

ออกทะเลกับ ณัฐ ณภัทร ผู้ช่วยนักโบราณคดีใต้น้ำที่กู้ความงามจากซากประวัติศาสตร์ผ่านภาพ
ออกทะเลกับ ณัฐ ณภัทร ผู้ช่วยนักโบราณคดีใต้น้ำที่กู้ความงามจากซากประวัติศาสตร์ผ่านภาพ

“ที่จริงมันพอจะคุยเป็นเสียงอู้อี้ได้ แต่เราต้องรู้อยู่แล้วว่าแต่ละชุดดำทำงานยังไง และก่อนลงก็ต้องคุยกันให้รู้เรื่องก่อนว่าใครจะทำอะไร ใครจะถืออะไร พอลงไปก็แค่ทำท่าบอกว่า เดี๋ยวผมจะตอกนะ”

โดยไซต์เรือครามที่พวกเขาออกสำรวจในปีนี้ มีขนาดพื้นที่ 8 x 2 ตารางเมตร หลังโยนสมอเรือลงทะเล มีลมพัดผ่านพอให้คลายร้อน เขาบอกว่าภารกิจวันนี้ดูจะเป็นไปได้ด้วยดี ถึงทั้งหมดจะใช้เวลาสำรวจกว่า 20 วัน ต่างกับการทำงานของนักโบราณคดีบนบก

“วันถัดไปเป็นการเปิดหน้าดิน ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Airlift Pump เริ่มขุดค้นอย่างจริงจังขึ้น งานบนบกถ้าอยากจะขึงผังก็คงใช้เวลาเต็มที่ครึ่งวัน แต่ความลึก 40 เมตร 1 คนอยู่ในน้ำได้ตั้งแต่หัวมิดน้ำลงไปจนถึงเวลาที่ต้องขึ้นได้แค่ 30 – 40 นาที 

“บนบกทำงานตอนไหนก็ได้ ถึงแม้ฝนตกก็ก่อแนวคันดิน หากระสอบทราย เอาเต็นท์มาคลุม แต่ใต้น้ำมันไม่ใช่ บางทีคลื่นแรงมาก สูงเมตรสองเมตร บางคนก็ทำงานได้ บางคนก็แทบอ้วกแตกอ้วกแตน เพราะฉะนั้น วันหนึ่งจะคืบหน้าประมาณนี้ ดูเหมือนน้อย แต่ก็ยิ่งใหญ่แล้ว”

ออกทะเลกับ ณัฐ ณภัทร ผู้ช่วยนักโบราณคดีใต้น้ำที่กู้ความงามจากซากประวัติศาสตร์ผ่านภาพ

“รูปนี้ถ่ายเพราะเป็นนักดำน้ำคนสุดท้ายที่ขึ้นมาจากน้ำลึกประมาณ 50 เมตร” เขาเล่า “เรารู้สึกถึงความเวิ้งว้างของท้องทะเล และจะได้ชี้ให้เห็นด้วยว่า ในการลงน้ำลึก ๆ ใช้ทรัพยากรเยอะมาก อย่างคนนี้ก็แบกมาแล้ว 4 ถัง 1 คน”

ระยะที่นักดำน้ำสันทนาการส่วนใหญ่ดำลึกคือไม่เกิน 20 – 30 เมตร ในระยะ 40 เมตรขึ้นไป จำเป็นต้องไปเรียนการดำน้ำทางเทคนิค (Technical Diving) ตัวเขากว่าจะดำถึง 40 เมตรได้ก็ทำงานเข้าปีที่ 4 ส่วนตัวถังออกซิเจนที่พะรุงพะรังอยู่บนหลัง เขาเคยเห็นนักดำน้ำแบกลงไปมากสุดที่ 5 ถังต่อ 1 คน

ถ้าเราดูแถบป้ายถังในภาพ เขาจะเรียกว่า ‘ไตรมิตร’ คือ อากาศ 3 ตัว ได้แก่ ออกซิเจน ไนโตรเจน และฮีเลียม ช่วยลดความเสี่ยงจากอากาศที่ใช้หายใจ

ออกทะเลกับ ณัฐ ณภัทร ผู้ช่วยนักโบราณคดีใต้น้ำที่กู้ความงามจากซากประวัติศาสตร์ผ่านภาพ
ออกทะเลกับ ณัฐ ณภัทร ผู้ช่วยนักโบราณคดีใต้น้ำที่กู้ความงามจากซากประวัติศาสตร์ผ่านภาพ

“ถ้าดำน้ำเที่ยวเล่นปกติก็จะเป็นถังเดี่ยว เป็นอากาศแบบที่เราหายใจอยู่บนบกเลย มีออกซิเจน 21% แต่พอเริ่ม 40 เมตรเป็นต้นไป ไนโตรเจนที่มีอยู่ 79% ก็จะเริ่มเป็นพิษแล้ว โดยพิษในที่นี้คือคล้าย ๆ การเมา สติสัมปชัญญะลดน้อยลง และจะเป็นอันตรายต่อตนเอง” 

แม้จะมีอุปกรณ์ที่รัดกุมก็จริง แต่แน่นอนว่าทุกตารางเมตรยังเต็มไปด้วยความเสี่ยง ณัฐเองก็ถึงขั้นเกือบเอาชีวิตไม่รอด

“เราเคยหมดสติอยู่ที่ผิวน้ำ เนื่องจากใช้อุปกรณ์ด้วยความประหม่า ส่งผลให้ออกซิเจนไม่เพียงพอ ถ้าอยู่บนบกก็เหมือนถูกเอาถุงครอบหัวแล้วสลบไป ซึ่งการสลบใต้น้ำจะทำให้เราจม แต่เรามีบัดดี้ช่วยไว้ เลยสลบไปไม่ถึงนาที” เขาตอกย้ำความเชื่อใจกันของทีม

“เหตุการณ์นี้เป็นบทเรียนราคาแพง ถ้าเราไม่รู้ว่าอุปกรณ์ผิดพลาดตรงไหน เราก็คงไม่กล้าดำอีกแล้ว”

ออกทะเลกับ ณัฐ ณภัทร ผู้ช่วยนักโบราณคดีใต้น้ำที่กู้ความงามจากซากประวัติศาสตร์ผ่านภาพ

สุดลูกหูลูกตา คือคำแรก ๆ ที่ผุดขึ้นมาเมื่อเรามองทะเล ไม่รู้ว่าไกลถึงไหน และไม่รู้ว่าลึกเท่าไร แต่ภาพนี้ของณัฐทำให้รู้ว่าทะเลมีก้น 

“เราดำน้ำลงไปแค่ 15 เมตรก็มองไม่เห็นพื้นแล้ว บางทีอยากรู้ว่าเมื่อไรเราจะถึงพื้นสักที ต้องดูนาฬิกา ดูความลึกตลอดว่าจะถึงรึยัง พอถึงพื้นก็ใจชื้นหน่อยว่าได้เริ่มงานแล้ว”

ออกทะเลกับ ณัฐ ณภัทร ผู้ช่วยนักโบราณคดีใต้น้ำที่กู้ความงามจากซากประวัติศาสตร์ผ่านภาพ

แล้วมีช่วงไหนไหมที่เขาใจไม่ชื้น – เราถาม

“เคยเกิดอาการแพนิกเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่ที่ระยะ 30 เมตรแล้ว แต่ดันรู้สึกว่าไม่อยากลงแล้วว่ะ วันนี้ไม่พร้อม พอเราบอกว่าไม่พร้อม ไม่อยากทำ ร่างกายก็จะรีบสาวเชือกขึ้นเลย เราต้องเลือกว่าจะยกเลิกหรือไปต่อ พักหายใจสักแป๊บ แล้วก็มาทบทวนว่าตัวเองเป็นอะไร กลัวอะไร ซึ่งมันต้องสู้กับใจตัวเองเหมือนกัน

ออกทะเลกับ ณัฐ ณภัทร ผู้ช่วยนักโบราณคดีใต้น้ำที่กู้ความงามจากซากประวัติศาสตร์ผ่านภาพ

“เพราะจุดประสงค์ในการถ่ายภาพโบราณคดีใต้น้ำคือเพื่อเก็บข้อมูล ถ้าภาพถูกทรายปกคลุมหมดก็ไม่มีทางรู้ว่ามันมีเรื่องราว การบันทึกภาพของโบราณคดีใต้น้ำมีความสำคัญพอ ๆ กับการสเกตช์ภาพเอง เราจะได้เห็นว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างในไซต์นี้”

ออกทะเลกับ ณัฐ ณภัทร ผู้ช่วยนักโบราณคดีใต้น้ำที่กู้ความงามจากซากประวัติศาสตร์ผ่านภาพ

นี่คือไซต์งานเรือไอน้ำ เรือมันนอกสมัยรัชกาลที่ 5 ในภาพจะเห็นว่าเป็นภาชนะที่คงรูปสมบูรณ์ แบบที่ถ้ามีคนไปรบกวนมันจะแตกแน่นอน บุคคลในภาพคือ โจ-พรนัชชา สังข์ประสิทธิ์ นักโบราณคดีหญิงคนแรกและคนเดียวในไทยกำลังค่อย ๆ ขุดให้เห็นภาชนะทั้งใบ 

ออกทะเลกับ ณัฐ ณภัทร ผู้ช่วยนักโบราณคดีใต้น้ำที่กู้ความงามจากซากประวัติศาสตร์ผ่านภาพ
ออกทะเลกับ ณัฐ ณภัทร ผู้ช่วยนักโบราณคดีใต้น้ำที่กู้ความงามจากซากประวัติศาสตร์ผ่านภาพ

โดยณัฐรับหน้าที่ถ่ายภาพจำนวนไม่น้อย ทั้งกว้างและแคบ ในระยะเวลาที่จำกัด เพราะลำพังภาพเดียวไม่อาจบอกได้ว่าเรือจมลงด้วยสาเหตุใด ขณะเดียวกันก็มีนักดำน้ำอีกคนคอยสเกตช์ภาพใต้น้ำ ล้วนแล้วแต่เป็นสกิลล์ที่คาดไม่ถึง

หลังบันทึกข้อมูลเสร็จ พวกเขาจะนำสิ่งของกว่าหลายร้อยปีที่ได้จากการสำรวจไปแช่น้ำสะอาด เพื่อให้เกลือละลายออกไป ก่อนนำไปศึกษาต่อบนพื้นดิน

ออกทะเลกับ ณัฐ ณภัทร ผู้ช่วยนักโบราณคดีใต้น้ำที่กู้ความงามจากซากประวัติศาสตร์ผ่านภาพ

ส่วนนี่คือโกร่งใบจักรซึ่งทำหน้าที่ขับเคลื่อนเรือ โกร่งก็คือส่วนที่ปกป้องไม่ให้ใบจักรมาโดน จะเห็นได้ว่า ขนาดเป็นไซต์เรือเหล็กที่ควรมีความคงทนมากกว่าไม้หลายเท่า ก็ยังหลงเหลือซากปรักหักพังอยู่เพียงส่วนที่ต่ำสุดของเรือ

“เดิมทีต้องเห็นเป็นดาดฟ้าเรือ แต่ของทุกอย่างโดนกวาดทิ้งไปหมดแล้ว โดนคลื่น โดนลม โดนทรายพังหมด มีแค่ถ่วงใบจักรของตัวเรือมันนอกที่ยังเหลืออยู่ เป็นการยากที่นักโบราณคดีจะนำข้อมูลมาวิเคราะห์ประมวลผลว่าเกิดอะไรขึ้นกับเรือลำนี้กันแน่ 

“แต่สำหรับไซต์นี้ เรามีข้อมูลด้านเอกสารที่บันทึกไว้เป็นจดหมายเหตุ บอกว่าเรือล่มลงจริง และมีคนตายประมาณ 20 ศพ”

เรื่องน่าสนใจขนาดนี้ จะไม่ถามต่อถึงสิ่งลี้ลับก็กระไรอยู่ ณัฐบอกว่าเขาไม่เคยเจอโครงกระดูกจริงจัง อย่างมากก็เป็นชิ้นส่วนของนิ้วก้อย 

“หลายครั้งมันให้ความรู้สึกขุ่นมัวมาก” เขาตอบ หลังถามว่าการดำลงไปเจอแต่ซากแทนที่จะเป็นสิ่งสวยงามนั้นเป็นอย่างไร “แต่พอได้ค่อย ๆ ดูดตะกอนเพื่อเปิดให้เห็นของ มันก็เป็นความสวยงามในอีกรูปแบบหนึ่งเหมือนกัน” เขายิ้ม

ออกทะเลกับ ณัฐ ณภัทร ผู้ช่วยนักโบราณคดีใต้น้ำที่กู้ความงามจากซากประวัติศาสตร์ผ่านภาพ

ในรูปนี้คือไหโบราณ ทำหน้าที่คล้าย ๆ โอ่ง คือเป็นภาชนะสำหรับใส่ของเหลว ส่วนที่วางอยู่ข้างกัน คือไม้โพล เครื่องมือสำคัญมากสำหรับนักโบราณคดี เพราะการถ่ายรูปสิ่งของต้องมีการวัดว่ามีขนาดเท่าไร ซึ่งไหชิ้นนี้นับว่าใหญ่พอสมควร เราถามณัฐต่อว่าพวกเขาขนของที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาเหนือน้ำได้ยังไง

“ต้องถามทีมงานก่อนว่าจำเป็นจะต้องเอาขึ้นมารึเปล่า” นี่คือข้อแรก

“ถ้ารู้ว่าจะเอาของชิ้นใหญ่ขึ้นมา เราก็จะเตรียมบอลลูนช่วยยก (Lift Bag) ไว้ด้วย” ส่วนนี่คือตัวช่วย

“ลองนึกภาพการคว่ำขันน้ำที่ยังมีอากาศอยู่ลงไปในน้ำ ไม่ว่าเราจะกดขันลึกขนาดไหน ถ้าอากาศยังอยู่ และเราปล่อยมือ ขันมันก็จะพุ่งขึ้นมาตลอด เพราะแรงกดดันใต้น้ำทำให้อากาศขยายตัว บอลลูนช่วยยกก็ใช้หลักการเดียวกัน

“มีขนาดประมาณ 100 – 200 กิโลกรัม สำหรับยกของหนัก” ณัฐเล่าต่อ “ก่อนหน้านี้มียกสมอเรือบางกะไชย 2 ที่จันทบุรี เป็นสมอไม้แบบลูกศร ยาวประมาณ 6 เมตรได้ ใช้บอลลูนประมาณ 4 ลูกช่วยกันยกหัวท้ายฝั่งละ 2 ลูก พอยกขึ้นมาใกล้เรือมันก็จะง่ายแล้วครับ”

นอกจากกล้องหลายสิบกิโลที่เขาต้องแบก นักโบราณคดีใต้น้ำที่ทุกก้าวย่างคือความเสี่ยงก็มีเครื่องรางติดตัวด้วยเช่นกัน เพียงแต่เครื่องรางของพวกเขาคือไดรฟ์คอมพิวเตอร์ขนาดพกพา

“มันเป็นตัวคำนวณความลึก คำนวณอากาศที่เราต้องใช้ มันบอกว่าเราจะอยู่ใต้น้ำได้อีกกี่นาที ถ้าไม่มีมัน ก็ต้องใช้วิธีคำนวนจากตารางการดำน้ำแบบแมนนวล พอมีแล้วก็ทำให้รู้สึกอุ่นใจสุด ๆ เรียกว่าเป็นพระเครื่องของวงการดำน้ำเลย”

ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขายังมีแกดเจ็ตน่าสนุกอีกหลายชิ้น เช่น บอลลูนขนาดเล็กที่ยิงขึ้นสู่ผิวน้ำได้ เป็นอุปกรณ์ฉุกเฉินที่เอาไว้บอกตำแหน่งเวลาเกิดเหตุไม่คาดฝัน อย่างตัวหลุดออกจากถัง โดนน้ำพัดออกไป หรือหาทางกลับเรือไม่เจอ เป็นต้น

ภาพนี้เต็มไปด้วยกองไม้และซากเรือเหล็ก ณัฐบอกว่านี่คือไม้ฟืนของหม้อน้ำที่ถูกตัดมาวางเรียงกันไว้ ส่วนข้างหลังที่เราเห็นเป็นโค้ง ๆ นั่นคือส่วนหม้อน้ำของเรือโบราณ ก่อนมีเครื่องยนต์ก็จะใช้แรงดันน้ำเป็นตัวขับเคลื่อน เรือมันนอกก็เช่นกัน 

“ถ้าเรือจม ทุกอย่างจะเกิดขึ้นและจบลงในวันนั้นวันเดียว ไม่ได้มีเหตุการณ์อะไรต่อ บางคนเขาเลยเปรียบเทียบว่าเป็นแคปซูลเวลา

“แหล่งโบราณคดีบนบกกว่าจะถูกทิ้งร้างมักจะมีกิจกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย หลายชั่วอายุคน ช่วงเวลาหนึ่งอาจเป็นพื้นที่ฝังศพ เป็นที่อยู่อาศัย เป็นอาคาร แต่แหล่งเรือจมไม่ใช่อย่างนั้น เพราะเรือมันล่มภายในไม่กี่ชั่วโมง ทุก ๆ กิจกรรมที่ดำเนินอยู่ ณ ตอนนั้น ก็จบลง ณ ตอนนั้นเช่นกัน เฉพาะฉะนั้น ประวัติศาสตร์เลยถูกแช่แข็ง 

“ถ้ามีสินค้าทั้งลำเรือหมื่นชิ้น ไอ้หมื่นชิ้นนั้น ตามหลักก็ควรจะอยู่เหมือนเดิม การขุดค้นทางโบราณคดี บางครั้งก็ถือว่าเป็นการทำลายหลักฐานเหมือนกัน เพราะเรารบกวนร่องรอยตรงนั้น แต่สิ่งที่แตกต่างคือ นักโบราณคดีพยายามบันทึกความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เราค่อย ๆ หยิบ ค่อย ๆ เปิดมา ขณะเดียวกันเราก็ถ่ายรูป บันทึกขั้นตอนกระบวนการที่เกิดขึ้นด้วยว่าทุกอย่างมันเคยอยู่ตรงไหน

เราเรียกพวกคุณว่า ‘นักล่าสมบัติ’ ได้รึเปล่า

“นักล่าสมบัติก็คุ้ยเอาแต่ของดี ๆ เพื่อแลกกับเงินใช่ไหม นักโบราณคดีใต้น้ำแตกต่างออกไป เราไม่ได้เอาไปขาย แต่เราขุดค้นขึ้นมาศึกษา กอบกู้ข้อมูลของวัตถุที่พบ เพื่อหาคำตอบว่ามันบอกอะไรเราได้บ้าง”

ภาพนี้คือไซต์งานเรือสำเภาที่เป็นเรือไม้ในสภาพย่ำแย่ จะเห็นว่าโบราณวัตถุเหล่านี้กระจัดกระจายไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน 

“อยากจะให้คนโฟกัสไปที่ไม้เรือตรงนี้ มันเป็นพื้นเรือแล้ว ส่วนใหญ่แหล่งเรือจมที่อายุหลายร้อยปีจะเหลือแค่พื้นท้องเรือเฉย ๆ อยู่ล่างสุดของเรือเลย อยากให้เห็นว่าสิ่งที่หลงเหลืออยู่ทางโบราณคดีใต้น้ำมีไม่เยอะหรอกนะ

“เราต้องใช้การวิเคราะห์ข้อมูลทุกรูปแบบว่ามันคืออะไรกันแน่ เพราะถ้าสุดจากท้องเรือนี้ไปก็เป็นทราย ไม่มีอะไรให้ค้นหาต่อแล้ว”

อย่างที่บอก งานของเขามีโอกาสน้อยมากที่จะเห็นเรือใต้น้ำแบบสมบูรณ์ถึงขั้นดาดฟ้าเรือขนาดนี้ 

ภาพนี้เป็นไซต์เรือที่พนมสุรินทร์ จ.สมุทรสาคร จมอยู่ในน้ำ เป็นโคลนเป็นเลน หลังติดตื้นสันดอนปากแม่น้ำ และก็อับปางลง พอกู้เรือไม่ได้ก็โดนตะกอนทับถม ถ้าในเชิงโบราณคดีใต้น้ำ ณัฐถือว่าลำนี้เป็นเรือที่สมบูรณ์มาก เพราะว่าโครงสร้างเรือยังอยู่ เห็นทั้งหัวและท้ายเรือ 

นอกจากการทับถมของกาลเวลา ข้อจำกัดของพวกเขาคือน้ำ ที่ไม่รู้ว่าวันไหนจะใสหรือขุ่น จะเชี่ยวกรากหรือสงบนิ่ง ส่งผลให้พวกเขาปฏิบัติภาคสนามได้เพียง 20 วันต่อปี ตั้งแต่ช่วงธันวาคมจนถึงมีนาคมเท่านั้น 

หลังรับบทเป็นผู้ช่วยนักโบราณคดีควบช่างภาพประจำกองมา 6 ปี จากชายที่มือไม้สั่นตอนลงน้ำวันแรก ความประหม่าถูกตัดทิ้งไป ปฏิบัติตามกฎระเบียบเคร่งครัดก่อนสูดหายใจและกระโดดลงน้ำ ณัฐบอกว่าเขาสุขุมขึ้นกว่าเดิมมาก เว้นเสียแต่ว่า

“กลับไปขับรถที่กรุงเทพฯ ก็ยังหัวร้อนอยู่นะครับ” เขาหัวเราะ

“การถ่ายรูปโบราณวัตถุใต้น้ำ ก็เหมือน กระบวนการบันทึกหลักฐานแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการทำงานโบราณคดีเท่านั้น”

Adblock test (Why?)

อ่านบทความและอื่น ๆ ( ออกทะเลกับ ณัฐ ณภัทร ผู้ช่วยนักโบราณคดีใต้น้ำที่กู้ความงามจากซาก ... - The Cloud )
https://ift.tt/CLBcf2e
แกดเจ็ต

Bagikan Berita Ini

0 Response to "ออกทะเลกับ ณัฐ ณภัทร ผู้ช่วยนักโบราณคดีใต้น้ำที่กู้ความงามจากซาก ... - The Cloud"

Post a Comment

Powered by Blogger.