- ไมก์ เฮนสัน
- ผู้สื่อข่าวบีบีซีแผนกกีฬา
แชมป์เทนนิสหญิงมือวางอันดับสองของโลก นาโอมิ โอซากะ คือหนึ่งในสัญลักษณ์ของมหกรรมกีฬาโอลิมปิกกรุงโตเกียว 2020 ซึ่งต้องเลื่อนมาจัดในปี 2021 นี้ โดยภาพลักษณ์ความเป็นคนรุ่นใหม่ในสังคมนานาชาติของเธอ สวนทางกับขนบธรรมเนียมในสังคมอนุรักษ์นิยมแบบญี่ปุ่นอย่างชัดเจน แต่ความเป็นขบถของคนดังอย่างโอซากะ ก็ได้ทำให้โฉมหน้าของสังคมญี่ปุ่นยุคใหม่เริ่มเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน
การที่โอซากะเป็นลูกครึ่งเฮติ-ญี่ปุ่น ทำให้การปรับตัวเข้ากับสังคมในประเทศบ้านเกิดของแม่เธอค่อนข้างยากลำบาก แม้จะได้สละสัญชาติอเมริกันมาถือสัญชาติญี่ปุ่นแล้วก็ตาม โอซากะเล่าว่าเมื่อตอนที่เธออายุเพียงสิบขวบ และกำลังเตรียมซ้อมเพื่อเข้าแข่งขันชิงแชมป์เยาวชนรายการใหญ่รายการหนึ่งอยู่นั้น เธอบังเอิญได้ยินคู่แข่งของเธอที่เป็นเด็กหญิงชาวญี่ปุ่น พูดกับเด็กหญิงจากแดนอาทิตย์อุทัยอีกคนในเชิงเหยียดเชื้อชาติของเธอว่า
"นั่นใครซ้อมอยู่ตรงนั้นน่ะ"
"โอซากะ"
"อ๋อ เด็กผิวดำคนนั้นน่ะเอง จะเรียกว่าเธอเป็นคนญี่ปุ่นได้มั้ย"
"ฉันว่าไม่ได้นะ"
แต่ตอนนี้โอซากะกลายเป็นคนดังที่เป็นหน้าเป็นตาให้ญี่ปุ่นในวงการกีฬาโลกไปแล้ว บนแผ่นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ที่ป้ายรถประจำทางทุกแห่งในกรุงโตเกียว ขณะนี้มีแต่รูปของเธอสวมแจ็กเก็ตสีชมพูสว่างสดใส คอยต้อนรับผู้คนที่จะเดินทางมาเข้าร่วมมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่จะเริ่มขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
ใต้ภาพของโอซากะมีคำขวัญที่เป็นภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่นผสมกันเขียนอยู่ โดยมีคำว่า new ตามด้วยตัวอักษรคันจิที่มีสองความหมาย ซึ่งอาจแปลได้ว่า "โลก" หรือ "รุ่นอายุคน" ก็ได้ ข้อความสะดุดตาสองภาษานี้น่าจะสื่อความถึง "โลกใหม่ คนรุ่นใหม่" อันเป็นภาพลักษณ์ประจำตัวของโอซากะนั่นเอง
แม้ญี่ปุ่นจะคว้าเอาภาพลักษณ์อันทันสมัย กล้าแกร่ง และเป็นอิสระของเธอ มาใช้นำเสนอโตเกียวโอลิมปิก 2020 สู่สายตาชาวโลก แต่ที่จริงแล้วสังคมญี่ปุ่นในทุกวันนี้ยังคงรู้สึกอิหลักอิเหลื่อ ทำใจลำบากกับอุปนิสัยและรูปลักษณ์ภายนอกของโอซากะอยู่มาก
นาโอะ ฮิบิโนะ นักเทนนิสหญิงมือวางอันดับสามของญี่ปุ่นบอกว่า "พูดตรง ๆ นะ พวกเรารู้สึกห่างเหินกับเธออยู่บ้าง เพราะเธอดูไม่เหมือนคนญี่ปุ่น เธอเติบโตมาจากที่อื่นและพูดภาษาญี่ปุ่นได้น้อย"
โอซากะไม่ใช่นักกีฬาลูกครึ่งหรือ "ฮาฝุ" คนแรกที่ถูกตั้งคำถามจากสังคมญี่ปุ่นเช่นนี้ ในอดีตเคยมีนักกีฬาเบสบอลคนดังที่เป็นลูกทหารอเมริกันอย่างซาจิโอะ คินุกาสะ และฮิเดกิ อิระบุ มาแล้ว แต่สาธารณชนญี่ปุ่นกลับไม่พูดถึงเชื้อสายของพวกเขา หรือพูดถึงการถูกกีดกันเลือกปฏิบัติในชีวิตของพวกเขาสักเท่าไหร่นัก
กรณีของโอซากะนั้นต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ฮิโรอากิ วาดะ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไมนิจิของญี่ปุ่นบอกว่า "คนรุ่นเก่าบางส่วนมีแนวคิดที่ตายตัว ซึ่งตีกรอบว่านักกีฬาหญิงควรจะพูดหรือปฏิบัติอย่างไรต่อหน้าธารกำนัล แต่โอซากะกลับไม่ทำตัวอยู่ในขนบที่ว่านี้ เธอแสดงออกอย่างชัดเจนทั้งคำพูดและการกระทำในทุกเรื่อง "
"การก้าวขึ้นมาโด่งดังของโอซากะ และการพูดแสดงความเห็นทางการเมืองของเธอ ทำให้สังคมญี่ปุ่นถกเถียงกันเรื่องเชื้อชาติและชาติพันธุ์มากขึ้น เธอถือเป็นบุคคลที่กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาทางสังคม และทำให้ผู้คนได้คิดทบทวนในประเด็นต่าง ๆ กันอย่างแท้จริง"
เมื่อปีที่แล้วระหว่างการแข่งขันชิงแชมป์ยูเอสโอเพ่น โอซากะเตรียมหน้ากากผ้าปิดใบหน้าไว้สวมระหว่างการแข่งขัน 7 ชิ้น โดยแต่ละชิ้นมีชื่อของชาวอเมริกันผิวดำที่ต้องเสียชีวิตไป เนื่องจากความรุนแรงที่มีสาเหตุจากการเหยียดผิว การกระทำนี้ทำให้ชาวญี่ปุ่นซึ่งอยู่ในสังคมที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์น้อยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก รู้สึกสับสนงุนงงจนถึงกับพูดไม่ออก
เมื่อปี 2019 บริษัทนิชชินผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายใหญ่ของญี่ปุ่น ต้องถอดภาพยนตร์โฆษณาแบบแอนิเมชันที่ทำขึ้นล่าสุดออกจากผังรายการของสถานีโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ รวมทั้งจอโฆษณาอิเล็กทรอนิกส์ในที่สาธารณะและสื่อสังคมออนไลน์ หลังโอซากะและผู้ชมบางส่วนแสดงความไม่พอใจที่ตัวละครแอนิเมชันของเธอถูกเปลี่ยนสีผิวให้ขาวขึ้นมาก จนแทบจะกลายเป็นคนละคน
นายโรเบิร์ต ไวทิง ชาวอเมริกันผู้เขียนหนังสือ "โตเกียวจังกี้" (Tokyo Junkie) ตีแผ่ประสบการณ์ชีวิตเกือบ 60 ปีในญี่ปุ่นของเขาบอกว่า "สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ของคนญี่ปุ่น มีการอภิปรายและวิเคราะห์ตามรายการโทรทัศน์ต่าง ๆ ว่าเหตุใดโอซากะจึงพูดหรือคิดเช่นที่แสดงออกมา"
"ธรรมเนียมญี่ปุ่นนั้นหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและการทะเลาะโต้เถียง ไม่เหมือนในอเมริกาที่ผู้คนแสดงออกต่อสาธารณะอย่างตรงไปตรงมา ที่ญี่ปุ่นยิ่งคุณเป็นคนดังมากขึ้นเท่าไหร่ปากยิ่งปิดสนิทแน่นขึ้นเท่านั้น คุณจะไม่ต้องการให้เรื่องอื้อฉาวส่งผลกระทบต่อเพื่อนร่วมทีม องค์กร หรือสปอนเซอร์ของคุณ"
"ปัจเจกชนนิยมเป็นคุณค่าที่ได้รับการเชิดชูในโลกตะวันตก แต่ไม่ใช่ที่ญี่ปุ่น สำหรับที่นี่ความกลมเกลียวสมานฉันท์คือสิ่งสำคัญที่สุด" นายไวทิงกล่าว
โอซากะยังเป็นผู้หนึ่งที่ปลุกกระแสให้ชาวญี่ปุ่นยอมรับการพูดคุยเรื่องสุขภาพจิตในที่สาธารณะมากขึ้น โดยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เธอแจ้งว่าจะไม่ให้สัมภาษณ์สื่อระหว่างการแข่งขันรายการเฟรนช์โอเพ่น ซึ่งต่อมาเธอได้ถอนตัวจากการแข่งขันดังกล่าวรวมทั้งการชิงแชมป์วิมเบิลดัน โดยอ้างว่าสุขภาพจิตอยู่ในภาวะย่ำแย่ หลังเกิดอาการซึมเศร้าหลายครั้งตลอดช่วงสามปีที่ผ่านมา
นายวาดะ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไมนิจิเล่าว่า "ตอนที่ผมยังเด็กเมื่อราว 40 ปีก่อน มันน่าอายมากถ้าตัวคุณหรือญาติพี่น้องของคุณมีปัญหาสุขภาพจิต ความเสี่ยงที่จะถูกผู้คนมองว่าอ่อนแอโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักกีฬา ทำให้พวกเขาพากันปิดเงียบในเรื่องนี้"
แต่หลายสิ่งกำลังเปลี่ยนไปในสังคมญี่ปุ่นยุคปัจจุบัน นายไวทิงผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับญี่ปุ่นกล่าวสรุปว่า "แม้โอซากะและลูกครึ่งญี่ปุ่นอีกหลายคน จะยังถูกสังคมญี่ปุ่นจำกัดให้เป็นเพียงคนนอก แต่คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่เริ่มมีความคิดที่ซับซ้อนลุ่มลึกมากกว่าคนรุ่นก่อน เข้าถึงอินเทอร์เน็ตและกำลังมีจิตสำนึกของความเป็นพลเมืองโลกมากขึ้น ซึ่งญี่ปุ่นเองได้ประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงนี้"
https://ift.tt/3ij7yMx
กีฬา
Bagikan Berita Ini
0 Response to "โตเกียว 2020 : นาโอมิ โอซากะ แชมป์เทนนิสสาวจอมขบถเปลี่ยนแปลงสังคมญี่ปุ่นอย่างไร - บีบีซีไทย"
Post a Comment